การแสดงของภาคอีสาน มักเกิดจากกิจวัตรประจำวัน หรือประจำฤดูกาล เช่น แห่นางแมว เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งสวิง เซิ้งกระติบ รำลาวกระทบไม้ ฯลฯ
ลักษณะการแสดงซึ่งเป็นลีลาเฉพาะของอีสาน คือ ลีลาและจังหวะในการก้าวเท้า มีลักษณะคล้ายเต้น แต่นุ่มนวล มักเดินด้วยปลายเท้าและสบัดเท้าไปข้างหลังสูง เป็นลักษณะของ เซิ้ง
การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มวัฒนธรรมใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มอีสานเหนือ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของลาว ซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า “เซิ้ง ฟ้อน และหมอลำ” เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ฟ้อนภูไท เซิ้งสวิง เซิ้งบ้องไฟ เซิ้งกะหยัง เซิ้งตังหวาย ฯลฯ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบด้วย แคน พิณ ซอ กลองยาวอีสาน โปงลาง โหวด ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และ กรับ
ส่วนกลุ่มอีสานใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า “เรือม หรือ เร็อม” เช่น เรือมลูดอันเร (รำกระทบสาก) รำกระโน็บติงต็อง (ระบำตั๊กแตนตำข้าว) รำอาไย (รำตัด) วงดนตรีที่ใช้บรรเลงคือวงมโหรีอีสานใต้ มีเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซอตรัวเอก กลองกันตรึม พิณ ระนาดเอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนา และเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายประกอบการแสดงแต่งแบบวัฒนธรรมของพื้นบ้านอีสาน มีลักษณะลีลาท่ารำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ กระฉับกระเฉง รวดเร็ว และสนุกสนาน
การฟ้อนภูไท ๓ เผ่า
การฟ้อนภูไท ๓ เผ่า เป็นการนำเอาศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกของชาวภูไทที่อาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม มาเปรียบเทียบกันในเชิงของการแสดงทางด้านนาฏกรรม เพราะจิง ๆ แล้วชาวภูไท ทั้ง ๓ เผ่านี้ต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด ได้หล่อหลอมศิลปวัฒนธรรมทั้ง ๓ กลุ่ม เข้ามาอยู่ในชุดการแสดงเดียวกัน เรียกว่า "ฟ้อนภูไท ๓ เผ่า" โดยผูกเป็นเรื่องสั้น ๆ ว่าพอถึงเทศกาลงานประเพณี ภูไท ทั้ง ๓ กลุ่ม ได้นำเอานาฏวัฒนธรรมของตนเองออกมาร่ายรำ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปชม โดยเริ่มต้นที่ภูไทกาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม ตามลำดับ ทำให้หนุ่มๆ เกิดการทะเลาะกัน ต้องรำมวยโบราณอันเป็นศิลปะประจำกลุ่มออกมาต่อสู้กัน จนต้องมีผู้ใหญ่มาห้ามปราบ concept ของการฟ้อนชุดนี้คือ ถึงแม้จะมีการทะเลา ต้องต่อสู้กันด้วยเชิงมวยและเชิงดาบ แต่เมื่อมีผู้ใหญ่มาห้ามปราม หนุ่มๆ ก็เชื่อฟัง และหันมาประนีประนอมกันเยี่ยงพี่น้องและได้ออกมาร่ายรำกับหญิงที่ตนหมายปอง
เซิ้งกระติบข้าว
เซิ้งกระติบข้าว เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว
เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมนั้น เซิ้งบั้งไฟในขบวนแห่ หรือเซิ้งในขบวนแห่ต่างๆ ไม่มีท่าฟ้อนรำที่อ่อนช้อย เป็นเพียงยกมือร่ายรำ(ยกมือสวกไปสวกมา)ให้เข้ากับจังหวะกลองและรำมะนาเท่านั้น
เซิ้งโปงลาง
เซิ้งโปงลาง เป็นการแสดงของชาวไทยภาคอีสาน นิยมเล่นกันมากใน จังหวัดกาฬสินธุ์ การแสดงจะมีทั้งหญิงและชาย ใช้ท่ารำที่ประดิษฐ์ขึ้นตามทำนอง เพลง อันเกิดจากความบันดาลใจ ด้วยลีลาแคล่วคล่องว่องไว ใช้ดนตรีโปงลาง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ร้อยต่อกันเหมือนระนาดแต่ใหญ่กว่า ใช้ผู้ตีสองคน คนตีคลอเสียงประสาน เรียกว่า ตีลูกเสิฟ และอีกคนตีเป็นทำนอง เรียกว่า ตีลูกเสพ มีจังหวะที่เร้าใจและสนุกสนาน เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน
เรือมอันเร หรือลูดอันเร
เรือมอันเร หรือลูดอันเร เป็นการละเล่นของชาวไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์ นิยมเล่นกันในเดือนห้า ซึ่งถือเป็นวันพักผ่อนประจำปี เป็นการรำเล่นในวันหยุดสงกรานต์ ชาบ้านจะหยุดทำงานสองช่วง ช่วงแรกหยุดสามวัน ตั้งแต่วันขึ้น หนึ่งค่ำ เดือนห้า ถึงวันขึ้นสามค่ำ เดือนห้า ช่วงที่สองหยุดเจ็ดวัน ตั้งแต่วันแรม หนึ่งค่ำ ถึงวันแรมเจ็ดค่ำ เดือนห้า
ลูดอันเร เป็นการเรียกชื่อการเล่นเรือมอันเร อีกอย่างหนึ่ง มีท่ากระโดดเต้นเข้ากับจังหวะของสากที่กระทบกัน เรือมแปลว่า รำ ลูด แปลว่ากระโดด หรือเต้น อันเร แปลว่า สาก ดังนั้นจึงแปลว่า รำสาก หรือเต้นสาก
เพลงโคราช
เพลงโคราช เป็นศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านของจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช ซึ่งได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน โดยเพลงโคราชนั้นมีเอกลักษณ์การร้องรำเป็นภาษาโคราช ซึ่งมีความไพเราะ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและสนุกสนาน
แต่ปัจจุบันเพลงโคราชค่อยๆ ได้รับความนิยมและความสนใจน้อยลง พวกเราจึงควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมอันดีงามนี้ไว้ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้สัมผัส ได้รับชมและรับความสนุกสนานเพลิดเพลินดีกว่าการเล่าขานเป็นตำนาน .
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.baanmaha.com/community
http://www.oknation.net/blog/yongyoot/2007/11/09/entry-1
http://www.thaigoodview.com/node/48388
http://eventsbanrakthai.blogspot.com/2007/10/blog-post_6386.html
http://show-organize.com/index.php?type=content&c_id=4174&ct_id=79096